“Put the right man on the right job” ถือเป็นหนึ่งในหลักการบริหารองค์กรต่าง ๆ ด้วยการจัดสรรบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ให้ตรงกับงานหรือโจทย์ที่มี เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
แต่โฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ “ครม.เศรษฐา 1” ที่กำลังจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่นั้น แม้จะมีตำแหน่งของรัฐมนตรีหลายคนที่ประชาชนพยักหน้ายอมรับว่าเหมาะสม แต่ก็มีตำแหน่งรัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง ที่เห็นแล้วอาจทำให้เกิดข้อกังขาว่า เหมาะจะนั่งคุมกระทรวงนั้น ๆ หรือไม่คำพูดจาก สล็อตเว็บตรง
“เศรษฐา” ยอมรับกดดัน ขอเวลา 3 เดือนพิสูจน์ตัวเอง
“เศรษฐา” สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำเนียบฯ บอก “สบายใจขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครอง-ปกป้องบ้านเมือง”
"เศรษฐา" นำ ครม. ถ่ายรูป เตรียมเข้าพิธีถวายสัตย์ฯ ควักเงินส่วนตัว ถอยรถตู้เลกซัสป้ายแดง
โดยหากจะพูดถึงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ไม่ค้านสายตาเท่าไหร่นัก ก็ตัวอย่างเช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ได้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและนักธุรกิจมากประสบการณ์ นั่งควบด้วย
หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คุมโดย ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร ซึ่งมีประสบการณ์ดูแลการค้ากับต่างชาติ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ซึ่งเป็นแพทย์ เป็นคนในแวดวงสาธารณสุข มาดูแล ก็ถือเป็นตัวเลือกที่หลายคนมองว่า เหมาะสมดี
เพื่อประกอบการพิจารณาว่า การนั่งคุมบางกระทรวงของรัฐมนตรีบางคนทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยถึงความเหมาะสมได้อย่างไร นิวมีเดีย พีพีทีวี ทำการเปรียบเทียบความรู้และประสบการณ์ของรัฐมนตรีเหล่านั้น กับรัฐมนตรีในต่างประเทศที่นั่งตำแหน่งเดียวกัน เพื่อดูว่า ประเทศอื่น ๆ ก็มีการเลือกรัฐมนตรีในลักษณะคล้ายประเทศไทย หรือเลือกคนที่ตรงโจทย์เป๊ะ ๆ มากกว่า
กระทรวงมหาดไทย
เริ่มกันที่ตำแหน่งแรกอย่างรัฐมนตรีว่าการทระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี มาคุมนั้น ประวัติโดยคร่าวของเขาคือ เป็นบุตรชายของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล
สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮอฟสตรา สหรัฐฯ และหลักสูตร Mini MBA จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประสบการณ์การทำงานเคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงบทบาทล่าสุดที่เพิ่งอำลาไปอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ขณะที่กระทรวงมหาดไทยนั้น มีบทบาทหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ดูแลการปกครองและบริหารราชการฝ่ายพลเรือนทั้งหมด จึงเกิดคำถามว่า จากประสบการณ์ที่ดูจะเน้นไปทางพาณิชย์และสาธารณสุขของนายอนุทิน จะเพียงพอต่อการนั่งคุมมหาดไทยหรือไม่
เมื่อดูที่ต่างประเทศ รมว.มหาดไทยของอังกฤษ คือ ซูเอลลา บราเวอร์แมน เธอเรียนกฎหมายที่เคมบริดจ์ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีสที่ 1 เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนและการทบทวนการพิจารณาคดี
ช่วงปี 2010-2015 บราเวอร์แมนดำรังตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาสำนักอัยการสูงสุด ต่อมาทำงานในแผนกที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณานำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป และในปี 2020 ได้เป็นอัยการสูงสุดประจำอังกฤษและเวลส์ จากนั้นได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัย ลิซ ทรัสส์ ทำให้ปัจจุบันนี่เป็นการดำรงตำแหน่งรมว.มหาดไทยสมัยที่ 2 ของเธอ
ส่วนที่สหรัฐฯ รมว.มหาดไทยคือ เดบรา ฮาลันด์ เป็นชนพื้นเมืองอเมริกันจากชนเผ่า ลากูนา ปัวโบล จบศิลปศาสตร์บัณฑิตสาขาภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก และศึกษาต่อด้านกฎหมายจากวิทยาลัยกฎหมาย มหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก
หรือหากดูที่บ้านใกล้เรือนเคียงของเราอย่างสิงคโปร์ มีรมว.มหาดไทยคือ เค ชานมูกัม นักกฎหมายชื่อดัง โดยเขาสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1
ด้านการงาน เคยอยู่ในฝ่ายคดีและระงับข้อพิพาทที่ Allen & Gledhill LLP ซึ่งเป็นสำนักงานกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ ต่อมาในปี 1998 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของศาลฎีกาแห่งสิงคโปร์ด้วยอายุ 38 ปี นับเป็นหนึ่งในทนายความที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งนี้
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อีกหนึ่งตำแหน่งที่เสียงกังขาค่อนข้างรุนแรง คือรมว.กระทรวงทรัพย์ ซึ่ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จากพรรคพลังประชารัฐ นั่งในตำแหน่งนี้
พล.ต.อ.พัชรวาท จบการศึกษาปริญญาตรี โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนหน้าที่การงานเดินเส้นทางสายตำรวจมาโดยตลอด ตำแหน่งสูงสุดคือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 35 ระหว่างวันที่ 8 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2552
ที่สหรัฐฯ ไม่มีกระทรวงสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่มีสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) โดยมี ไมเคิล เรแกน เป็นผู้อำนวยการ เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรัฐนอร์ธแคโรไลนา โดยได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อม จากนั้นศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ได้รับปริญญาโทสาขารัฐประศาสนศาสตร์
เส้นทางการทำงานของเรแกนอยู่ในแวดวงสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เขาเริ่มต้นอาชีพในตำแหน่งผู้กำกับดูแลสิ่งแวดล้อมของ EPA จากนั้นเข้าร่วมกองทุนป้องกันสิ่งแวดล้อม (EDF) และได้เป็นรองประธานฝ่ายพลังงานสะอาดและเป็นผู้อำนวยการประจำภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่รมว.สิ่งแวดล้อมของบางประเทศ เช่น แคนาดา คือ สตีเวน กิลโบลต์ แม้จะไม่ได้จบการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง เพราะเขาจบวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในระดับวิทยาลัย ส่วนระดับปริญญาตรีจบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมอนทรีออล
แต่ประวัติของกิลโบลต์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนั่นถือว่าน่าสนใจอย่างมาก เพราะเขารู้จักปกป้องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ด้วยการปีนขึ้นไปบนต้นไม้และไม่ลงมา เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนเข้าไปถางพื้นที่ป่าด้านหลังบ้านของเขา
เมื่อโตขึ้นมา กิลโบต์เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และก่อตั้งกลุ่มเพื่อความสามัคคี ความเสมอภาค สิ่งแวดล้อม และการพัฒนา (ASEED) ขึ้นมา มีจุดประสงค์เพื่อทำให้แคนาดาเป็นสังคมที่ยั่งยืน ต่อมาเปลี่ยนชื่อองค์กรเป็นเอควิแตร์ (Équiterre)
นอกจากนี้ ในปี 1997 เขาเข้าร่วมกับกรีนพีซแคนาดา โดยดูแลแผนกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการรณรงค์เรื่องสภาพภูมิอากาศและพลังงาน ก่อนที่จะเป็นหัวหน้าสำนักงานควิเบกของกรีนพีซในปี 2000 และอีก 5 ปี ต่อมา เขาเป็นผู้ประสานงานการรณรงค์เรื่องสภาพภูมิอากาศให้กับกรีนพีซอินเตอร์เนชันแนล
หลังจากนั้น เขาเริ่มเขาไปเป็นคณะกรรมการหรือที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมให้กับภาครัฐ คือทางการรัฐควิเบก
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
มาดูกันต่อที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้เจอดราม่า “มันคือแป้ง” มาโดยตลอด และยังคงส่งผลถึงการเข้ารับตำแหน่งนี้ของเขา
ร.อ.ธรรมนัส สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 25 ส่วนปริญญาตรีจบวิทยาศาสตรบัณฑิต โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 36
ปริญญาโทมี 2 ใบ คือ พุทธศาสนมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พระพุทธศาสนา) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง นอกจากนี้ยังจบปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต Doctor of Philosophy (รัฐประศาสนศาสตร์) CALIFORNIA UNIVERSITY FCE ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร.อ.ธรรมนัสดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเกษตรฯ จึงอาจจะพอถือได้ว่ามีประสบการณ์อยู่บ้าง และหลังได้รับแต่งตั้งเป็นรมว.เกษตร เจ้าตัวก็ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อแก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ
เมื่อดูที่ประเทศฝรั่งเศส รมว.เกษตรฯ คนปัจจุบันคือ มาร์ก เฟส์นู เขาจบอนุปริญญาด้านวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตและโลกจาก Sciences Po เขามีพื้นฐานด้านเกษตรกรรม โดยก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางการเมือง เขาเคยทำงานให้กับบริษัทที่ให้คำแนะนำแก่กระทรวงเกษตรฝรั่งเศส และต่อมาก็ทำงานให้กับหอเกษตรกรรมในลัวร์-เอ-แชร์
หรืออย่างที่ประเทศญี่ปุ่น รมว.เกษตรนั้น แม้จะจบการศึกษาเพียงระดับมัธยมปลาย แต่ โนมูระ เท็ตสึโร นั้น เรียกได้ว่าคร่ำหวอดอยู่ในวงการเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน โดยปัจจุบันเขาอายุ 80 ปีแล้ว แต่เริ่มทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรตั้งแต่อายุ 26 ปี โดยเข้าร่วมสหภาพสหกรณ์การเกษตรจังหวัดคาโงชิมะตั้งแต่ปี 1969 และทำงานในสหภาพฯ หลายสิบปี
กระทั่งหลังเข้าสู่เส้นทางการเมือง ในปี 2008 เขาก็ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการรัฐสภาเพื่อการเกษตร ป่าไม้ และประมง และเมื่อปีที่แล้ว ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรมว.กระทรวงการเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น
กระทรวงศึกษาธิการ
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาล ครม.เศรษฐา 1 เขาจบการศึกษาปริญญาตรีในสาขานิติศาสตร์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ต่อมาได้เข้ารับราชการตำรวจ และเดินในเส้นทางสีสากีมาโดยตลอด โดยไม่พบประวัติเส้นทางสายงานด้านการศึกษา
ขณะที่รมว.ศึกษาธิการของสหรัฐฯ นั้น คือ มิกูเอล คาร์โดนา เป็นนักการศึกษาที่จบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์การศึกษาจากมหาวิทยาลัยกลางรัฐคอนเน็กติคัต และจบปริญญาโทสาขาวิทยาศาสตร์การศึกษาสองภาษาและสองวัฒนธรรม จากมหาวิทยาลัยคอนเน็กติคัต (UConn) จากนั้นใช้เวลาอีก 6 ปีศึกษาและสอบประกาศนียบัตรวิชาชีพนักการศึกษา
เส้นทางอาชีพสายการศึกษาของคาร์โดนา เริ่มต้นด้วยการเป็นครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนประถมในเมืองเมริเดน รัฐคอนเน็กติคัต ต่อมาในปี 2003 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนประถมศึกษาฮันโนเวอร์ เป็นครูใหญ่ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐ
ในสายอาชีพด้านการศึกษาของเขา คาร์โดนาได้มุ่งเน้นไปที่การลดช่องว่างระหว่างผู้เรียนภาษาอังกฤษและนักเรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก
ในเดือนสิงหาคม 2019 ผู้ว่าการรัฐคอนเน็กติคัตได้แต่งตั้งคาร์โดนาให้เป็นกรรมาธิการการศึกษาของรัฐ จากนั้นในปี 2020 เขาก็ได้รับเลือกเป็นรมว.ศึกษาธิการสหรัฐฯ
ส่วนรมว.ศึกษาธิการของฝรั่งเศสอย่าง ปั๊ป เอ็นเดียเยเองเป็นทั้งนักการศึกษาและนักประวัติศาสตร์ เขาจบปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์จากโรงเรียนการศึกษาขั้นสูงสาขาสังคมศาสตร์ และเข้าเป็นศาสตราจารย์ที่นั่น และเป็นศาสตราจารย์ที่ Sciences Po ตั้งแต่ปี 2012 รวมถึงเคยเป็นอดีตผู้อำนวยการของ Palais de la Porte Dorée ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐานแห่งชาติด้วย
ขณะที่ จิลเลียน คีแกน รมว.ศึกษาธิการอังกฤษ แม้ไม่ใช่ครูหรือนักการศึกษา แต่เคยทำงานในแผนกการฝึกงานและทักษะ ภายใต้กระทรวงศึกษาฯ ทำให้เมื่อมีการแต่งตั้งเธอเป็นรมว.ศึกษาธิการจึงเป็นเรื่องที่พอยอมรับได้
ต้องยอมรับ ไม่ใช่ทุกชาติที่ “Put the right man on the right job”
ทั้งนี้ ตัวอย่างข้างต้นเหล่านี้เป็นเพียงบางประเทศเท่านั้นที่เลือกผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ตรงกับกระทรวง แต่ในความเป็นจริง ประเทศส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถแต่งตั้งรัฐมนตรีได้อย่างเหมาะสมทุกกระทรวง
กระนั้น นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรจัดสรรที่นั่งกระทรวงให้ตรงกับความสามารถของผู้ที่จะมานั่งคุม เพราะหากเรา “Put the right man on the right job” ได้ นอกจากผลการดำเนินงานที่น่าจะคาดหวังได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประสบการณ์แล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาล อันจะส่งผลต่อการหาเสียงและเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า การดำเนินงานของกระทรวงที่รัฐมนตรีดูเหมือนจะ “ผิดฝาผิดตัว” นี้ จะดำเนินไปในทิศทางใดกันแน่
โปรแกรมวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย AVC 2023 ไทย พบ จีน รอบชิงชนะเลิศ
ประกาศฉบับที่ 21 เตือน! 34 จังหวัด “ฝนตกหนักถึงหนักมาก”
ออกหมายจับ "อิทธิพล คุณปลื้ม" คดีออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารมิชอบ